การหย่า

Details

การจดทะเบียนหย่า

ชายหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วจะขาดจากการสมรสหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 1) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย 2) ได้จดทะเบียนการหย่าแล้ว และ 3) ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส

การจดทะเบียนการหย่ากระทําได้ 2 วิธี
    1) การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียนเดียวกัน และการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
    2) การจดทะเบียนการหย่าโดยคําพิพากษาของศาล

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนการหย่า
    - บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้องและพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
    - ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)
    - หนังสือสัญญาการหย่า (กรณีหย่าโดยความยินยอม)
    - คำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (กรณีหย่าตามคำสั่งศาล)
    - สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลับมาใช้ชื่อสกุลของตนเองจากการใช้ชื่อสกุลของคู่หย่าเฉพาะสำนักทะเบียนที่ตนเองมีชื่อ หรือฝ่ายหญิงเปลี่ยนคำหน้านาม
    - พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในการจดทะเบียนการหย่า

ขั้นตอนการจดทะเบียนการหย่า
2.3.1 การจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอม ในสำนักทะเบียนเดียวกัน สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่หย่า
    - นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคลลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย หลักฐานการจดทะเบียนสมรสและหนังสือสัญญาหย่า
    - นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนการหย่า (คร.6) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) ให้ครบถ้วน สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองฝ่ายประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน อำนาจการปกครองบุตร หรือเรื่องอื่น ให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในช่องบันทึก
    - ให้ผู้ร้องและพยานลงมือชื่อในทะเบียนการหย่า (คร.6)
    - เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนการหย่า (คร.6) และในใบสำคัญการหย่า (คร.7)
    - นายทะเบียนมอบใบสำคัญการหย่า (คร.7) ให้แก่ผู้ร้องฝ่ายละหนึ่งฉบับ

2.3.2 การจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอม ต่างสำนักทะเบียน
สำนักทะเบียนแห่งแรก
    - สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง
    - นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคลลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย หลักฐานการจดทะเบียนสมรสและหนังสือสัญญาหย่า
    - นายทะเบียนสอบปากคำผู้ร้องให้ปรากฏว่าเป็นผู้ยื่นคำร้องก่อนและอีกฝ่ายหนึ่งจะไปยื่นคำร้องภายหลัง ณ สำนักทะเบียนแห่งใด
    - นายทะเบียนลงรายการของผู้ร้องในทะเบียนการหย่า (คร.6) ซึ่งแยกใช้ต่างหาก ส่วนรายการของฝ่ายที่มิได้มา ให้ลงเฉพาะรายการที่ทราบ
    - ให้ผู้ร้องและพยานลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนกาหย่า (คร.6) สำหรับช่องลายมือชื่อของผู้ร้องฝ่ายที่มิได้มา ให้ระบุว่าจะลงลายมือชื่อ ณ สำนักทะเบียนแห่งใด
    - เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนการหย่า (คร.6)
    - ระบุข้อความไว้ที่ตอนบนด้านขวาของหน้าทะเบียนว่า “ต่างสำนักทะเบียน”
    - แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าการหย่าดังกล่าวจะมีผลเมื่อคู่หย่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ลงลายมือชื่อ ณ สำนักทะเบียนแห่งที่สองและนายทะเบียนแห่งที่สองได้รับจดทะเบียนการหย่าแล้ว
    - นายทะเบียนส่งเอกสารสำเนาคำร้อง สำเนาทะเบียนการหย่า สำเนาหลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้อง สำเนาหลักฐานการจดทะเบียนสมรส และสำเนาหนังสือสัญญาหย่า ไปยังสำนักทะเบียนตามที่ผู้ร้องได้แจ้งว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะไปยื่นคำร้องภายหลัง ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งจะไปยื่นคำร้องภายหลัง ณ สำนักทะเบียนในต่างประเทศ ให้ส่งเอกสารดังกล่าวไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
    - เมื่อได้รับแจ้งผลการจดทะเบียนจากสำนักทะเบียนแห่งที่สองแล้วให้แจ้งผู้ร้องมารับใบสำคัญการหย่า (คร.7) สำหรับในกรณีที่ได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียนแห่งที่สองว่าคู่หย่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะจดทะเบียนการหย่าหรือนายทะเบียนมิได้รับคำร้องของบุคคลดังกล่าว ให้แจ้งผู้ร้องทราบ
สำนักทะเบียนแห่งที่สอง
    - เมื่อนายทะเบียนได้รับเอกสารจากสำนักทะเบียนแห่งแรกแล้ว ให้แจ้งฝ่ายที่ยังมิได้ลงลายมือชื่อทราบเพื่อยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการหย่า
    - นายทะเบียนชี้แจงผลของการจดทะเบียนการหย่าให้ผู้ร้องทราบ หากผู้ร้องยังยืนยันที่จะขอจดทะเบียนการหย่า ให้นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้อง และให้ผู้ร้องตรวจสอบความถูกต้องของสำเนาหลักฐานการจดทะเบียนสมรสรวมทั้งหนังสือสัญญาหย่าที่ได้รับจากสำนักทะเบียนแห่งแรก
    - นายทะเบียนลงรายการของผู้ร้องทั้งสองฝ่ายในทะเบียนการหย่า (คร.6) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) ซึ่งแยกใช้ต่างหาก
    - นายทะเบียนดำเนินการจัดทำเอกสารเหมือนกับสำนักทะเบียนแห่งแรกรวมทั้งกำหนดเลขทะเบียนการหย่า
    - นายทะเบียนมอบใบสำคัญการหย่า (คร.7) ให้ผู้ร้องหนึ่งฉบับ และส่งเอสารใบสำคัญรหย่า (คร.7) อีกหนึ่งฉบับ และสำเนาทะเบียนการหย่าไปยังสำนักทะเบียนแห่งแรก หากสำนักทะเบียนดังกล่าวเป็นสำนักทะเบียนในต่างประเทศให้ส่งเอกสารนั้นไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
    - ในกรณีที่คู่หย่าฝ่ายที่ยังมิได้ลงลายมือชื่อไม่ประสงค์จะจดทะเบียนการหย่า หรือนายทะเบียนมิได้รับคำร้องภายในหกสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้แจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบ ให้แจ้งสำนักทะเบียนแห่งแรกและผู้ร้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

2.3.2 การจดทะเบียนหย่าตามคำสั่งศาล
    - ผู้ร้องขอจดทะเบียนการหย่าโดยนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่าขาดจากกัน และมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง
    - นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้อง สำเนาคำพิพากษาและคำรับรองถูกต้อง
    - นายทะเบียนลงรายการของคู่หย่าในทะเบียนการหย่า (คร.6) และใบสำคัญการหย่า (คร.7)ให้ครบถ้วน และบันทึกข้อความลงในช่องบันทึกของทะเบียนการหย่า (คร.6) ให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับศาล เลขที่คดี วันเดือนปีที่พิพากษา และสาระสำคัญของคำพิพากษานั้น
    - นายทะเบียนดำเนินการดำเนินการจัดทำเอกสารเหมือนกับการหย่าโดยวิธีข้างต้น สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียว ให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่า (คร.7) ฉบับที่เหลือไว้ แล้วแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งมารับไป

ค่าธรรมเนียม
    - การจดทะเบียนการหย่าทุกกรณี ไม่เสียค่าธรรมเนียม
    - การคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท

   
© by กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศการทะเบียน ส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน