การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

Details

    ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เป็นเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานรับรองสิทธิทางกฎหมายระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรม ทำให้บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น เช่น มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดาหรือมารดาบุญธรรม เป็นต้น แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ทำให้บุตรบุญธรรมสูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และบิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันที่เด็ก (ผู้เยาว์) เป็นบุตรบุญธรรม

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
    - ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
    - ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
    - ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง
    - ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
    - ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
    - บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
    - หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรม (กรณีไม่มาให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่)
    - หนังสือแจ้งการอนุมัติของคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม มีอายุ 6 เดือน (กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์)
    - พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

ขั้นตอนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
    - การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
    - กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ต้องมีหนังสือแจ้งการอนุมัติของคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อนยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต่อนายทะเบียน
    - นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคลของผู้ร้องทั้งสองฝ่าย หนังสือแจ้งการอนุมัติฯ (ถ้ามี) และตรวจสอบว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรม (บรรลุนิติภาวะ) มีคู่สมรสซึ่งต้องให้ความยินยอม ให้ตรวจสอบหลักฐานของบุคคลดังกล่าวด้วย
    - นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (คร.14) ให้ครบถ้วน
    - ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียน (คร.14)
    - เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (คร.14)

ค่าธรรมเนียม
    - การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ไม่เสียค่าธรรมเนียม
    - การคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท

   
© by กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศการทะเบียน ส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน