ทะเบียนการขายทอดตลาดและค้าของเก่า

Details

แนวทางการดำเนินงานทะเบียนการขายทอดตลาดและค้าของเก่า

กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
    1. พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474
    2. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2533

คำจำกัดความ
    1. การขายทอดตลาด หมายถึง การขายโดยเปิดเผยแก่มหาชน ด้วยวิธีให้โอกาสแก่ผู้ประมูลราคา ผู้ใดให้ราคาสูง ก็มีสิทธิซื้อทรัพสินนั้นได้
    2. ของเก่า หมายถึง ทรัพย์ที่เสนอขาย แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้รวมถึง ของโบราณด้วย
    3. การค้าของเก่า หมายถึง
              ก. ประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
              ข. ประเภทเพชร พลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี
              ค. ประเภทรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่ รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการและรถยนต์ส่วนบุคคล
              ง. ประเภทอื่น ๆ เช่น รถจักรยานยนต์ ไม้เรือนเก่า ขวด เศษเหล็ก กระดาษ เป็นต้น
    4. เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต หมายถึง
              ก. ผู้บังคับการกองทะเบียน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเขตกรุงเทพมหานคร
              ข. ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตจังหวัด
    5. นายตรวจ หมายถึง เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดอำเภอ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้น ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป

ขั้นตอนการดำเนินการ
    1. การขออนุญาต
              ก. ผู้ขออนุญาตยื่นคำร้อง ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่จะดำเนินการ
              ข. อำเภอตรวจสอบเอกสาร หากครบถ้วน ถูกต้อง ส่งให้จังหวัด
              ค. จังหวัดตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของผู้ขอ หากครบถ้วน ถูกต้อง ให้ออกใบอนุญาตและส่งกลับอำเภอ
              ง. อำเภอแจ้งผู้ขออนุญาต เพื่อรับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียม
              จ. อำเภอสำเนาใบเสร็จรับเงินส่งจังหวัด เพื่อบันทึกรายละเอียดลงในต้นขั้วใบอนุญาตเก็บไว้เป็นหลักฐาน
    2. การขอต่ออายุใบอนุญาต
              ก. ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ 90 วัน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอเดิม
              ข. อำเภอดำเนินการเช่นเดียวกับการขออนุญาต

หลักฐานประกอบการขออนุญาต
    1 บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว พร้อมใบประกอบธุรกิจและสำเนา
    2 ทะเบียนบ้านและสำเนา
    3 รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป
    4 ทะเบียนพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลและสำเนา
    5 หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ทำการค้า หรือหลักฐานการเป็นเจ้าของหรือสัญญาเช่า
    6 ใบอนุญาตจากกรมศิลปากรและสำเนา กรณีประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต
    1. มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
    2. มีความรู้หนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้
    3. เป็นผู้ที่ไม่เคยต้องโทษจำคุกความผิดฐานปลอมแปลงเงินตรา การปลอมบัตรและการปลอมใบสำคัญ สัญญาในการยืมเงินตราและในการให้ดอกเบี้ย และความผิดฐานประทุษร้ายแก่ทรัพย์

การปฏิบัติตนของผู้ขายทอดตลาดและค้าของเก่า
    1 ผู้ขายทอดตลาดปฏิบัติดังนี้
               ก. สำแดงคำแจ้งความแห่งการขายทุกคราวไว้ ณ สถานที่ขายให้เห็นได้แจ้ง
               ข. อยู่ ณ ที่ขายในเวลาขายทอดตลาด และพร้อมที่จะแสดงใบอนุญาตต่อนายตรวจเมื่อเรียกตรวจ
               ค. มีสมุดบัญชีสำหรับการขายทุกคราว และจดรายการข้อสำคัญทั้งปวงแห่งการขายนั้น ๆ ลงไว้
               ง. แจ้งวันและสถานที่ขายให้นายตรวจทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันเต็ม
               จ. สำแดงนามของตนและคำว่า "ผู้ทอดตลาด" ไว้เหนือประตชั้นนอกแห่งสำนักงาน
    2 ผู้ค้าของเก่าปฏิบัติดังนี้
               ก. แสดงนามของตนและคำว่า "ผู้ค้าของเก่า" ไว้ ณ ที่ทำการค้าของตนพร้อมทั้งใบอนุญาตในที่อันเห็นได้แจ้ง
               ข. มีสมุดบัญชีสำหรับการค้าของตนและจดรายการข้อสำคัญทั้งปวงแห่งการค้าลงไว้ทุกราย สมุดบัญชีตามที่กล่าวนี้ ต้องทำตามแบบและนำมาให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตลงนาม และประทับตราก่อนทุกเล่ม
               ค. แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนายตรวจ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์ที่มีผู้มาเสนอหรือโอนให้ตนนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทางทุจริต
               ง. ทำเลขลำดับเป็นเครื่องหมายปิดไว้ที่ของให้ตรงกับเลขลำดับในสมุดบัญชี เพื่อสะดวกในการสำรวจ

การพิมพ์ลายนิ้วมือ
    ให้อำเภอขอความร่วมมือสถานีตำรวจท้องที่เป็นผู้พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ขอใบอนุญาต เพื่อส่งไปตรวจสอบ คุณสมบัติตามมาตรา 6(3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 ที่กอง ทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไม่ต้องรอผลการตรวจสอบ)

หน้าที่ของนายตรวจ
    1. ตรวจตราผู้ได้รับอนุญาตขายทอดตลาดในท้องที่ตนว่าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วน ตามหน้าที่ของผู้ขาย ทอดตลาดอันต้องกระทำตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 มาตรา 7 ข้อ ก. ข. ค. และ ง. หรือไม่ ส่วนการขายทอดตลาดเร่ ซึ่งไม่ได้ขายประจำในสำนักงานตามที่จดทะเบียนไว้ เมื่อผู้ขาย ทอดตลาดได้แจ้งวันและสถานที่    ขายให้นายตรวจทราบล่วงหน้าตามความใน ข้อ ฆ. แห่งมาตราเดียวกันนี้ ก็ให้ นายตรวจซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่มีการขายทอดตลาดนั้น ไปตรวจดูว่าผู้ขายทอดตลาดได้ปฏิบัติถูกต้องตามความ ในข้อ ก. ข. ค. ดังกล่าวแล้วนี้หรือไม่เช่นเดียวกัน ถ้าปรากฏว่ายังมีสิ่งบกพร่องอยู่ก็ให้ผู้ขายทอดตลาดนั้น ดำเนินการ เสียให้ครบถ้วนบริบูรณ์เสียก่อน จึงให้ทำการขายทอดตลาดได้
    2. ตรวจตราผู้ค้าของเก่าว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาด และค้าของเก่า พ.ศ. 2474 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2495 มาตรา 8 ข้อ ก. ข. ค. และ ฆ. ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าบกพร่องก็ให้ผู้ค้าของเก่า ดำเนินการเสียให้ครบถ้วนบริบูรณ์ก่อน จึงให้ทำการค้าของเก่าได้
    3. ตรวจบัญชีและทรัพย์สินสิ่งของการขายทอดตลาดและค้าของเก่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินสิ่งของ ได้มาโดยการทุจริตให้รีบรายงานตามลำดับชั้น จนถึงเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตพิจารณาสั่งการ
    4. ตรวจตราผู้ขายทอดตลาดและค้าของเก่าให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากปรากฏว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องและเข้า ลักษณะความผิดตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 ให้ นายตรวจบันทึกความผิดส่งสถานีตำรวจท้องที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วรายงานให้เจ้าพนักงานผู้ออก ใบอนุญาตทราบ ซึ่งกรมการปกครองได้กำหนด แบบบันทึกผลการตรวจให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว
    5. การย้ายที่ทำการหรือร้านขายทอดตลาดและค้าของเก่าจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 6 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 ลงวันที่ 3 กันยายน 2484 ว่าให้ผู้รับอนุญาต แจ้งนายตรวจทราบโดยมิชักช้า ดังนั้น เมื่อนายตรวจ ได้รับทราบแจ้ง การย้ายจากผู้ทำการขายทอดตลาดหรือค้าของเก่ารายใดแล้ว นายตรวจจะต้องตรวจอาคารสถานที่ตั้ง ตลอดจนสถานที่เก็บทรัพย์สินว่าเหมาะสมหรือไม่ พร้อมกับทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่ตั้ง แล้วรายงานเสนอความเห็น ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตสั่งการ หากได้รับอนุญาตให้แก้ไขรายการในใบอนุญาตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

อัตราค่าธรรมเนียม
    1. การขายทอดตลาด ปีละ 15,000 บาท
    2. การค้าของเก่า
                ก. ประเภทโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฏหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปีละ 12,500 บาท
                ข. ประเภทเพชร พลอย ทอง นาค เงิน หรืออัญมณี ปีละ 10,000บาท
                ค. ประเภทรถยนต์ตามกฏหมายว่าด้วยรถยนต์ ปีละ 7,500 บาท
                ง. ประเภทอื่น ๆ ปีละ 5,000 บาท
    ผู้ค้าของเก่ารายเดียวหลายประเภท ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในประเภทที่สูงกว่าประเภทเดียว

ความผิดเกี่ยวกับการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
    1. ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือประกอบอาชีพดังกล่าว ภายหลังที่ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  หากเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขายทอดตลาด หรือค้าของเก่าประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    2. ผู้รับใบอนุญาตผู้ใด ทำการขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยใบอนุญาตขาดอายุ หรือทำการขาย ทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือฝ่าฝืนกฎกระทรวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
    3. ผู้รับใบอนุญาตประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่า ไม่แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนายตรวจ ทันทีเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า ทรัพย์ที่มีผู้มาเสนอหรือโอนให้ตนนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท  หากเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

   
© by กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศการทะเบียน ส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน